ย้อนเวลา 100 ปีสู่สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ผ่านน้ำหอมกลิ่นที่ 4 จากบ้าน Aēsop
ช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 ท่ามกลางการเกิดขึ้นของวัสดุในการก่อสร้างใหม่ๆอย่างเหล็กหล่อ สารเคลือบโลหะ กระจก และคอนกรีต ประกอบกับวิถีความเป็นเมืองก็เริ่มหนาแน่นไปด้วยผู้คนเกินกว่าที่สถาปัตยกรรมแบบเก่าจะรองรับได้ การเคลื่อนไหวเชิงสถาปัตยกรรมแบบ Modern Architecture จึงได้ก่อตัวขึ้นโดยยึดเอาคอนเส็ปต์ Function Over Form คือประโยชน์ใช้สอยต้องมาก่อนรูปแบบความสวยงาม และเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาคารทั้งหลัง ผลลัพธ์คือความหนักแน่นและเกลี้ยงเกลาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างยาวนานจนถึงทศวรรษ 80s เลยทีเดียว
หนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากในงานสถาปัตยกรรมยุคนี้ก็คือศิลปิน/นักคิด/นักวางผังเมืองและสถาปนิกชาวสวิส-ฝรั่งเศส (หลายตำแหน่งจัง) ที่ชื่อ Charles-Édouard Jeanneret-Gris หรือตามฉายาที่เขาตั้งให้กับตัวเองว่า Le Corbusier บุรุษระดับตำนานผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้างที่พักอาศัยที่สามารถซ้อนกันขึ้นไปเป็นตึกเพื่อตอบสนองความหนาแน่นของประชากรในเมืองยุคใหม่ รวมทั้งแนวคิดที่ว่าที่พักอาศัยควรจะสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมได้อย่างสะดวกสบาย ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติในสมัยนี้ แต่ในยุคของเขานั้นไม่เคยมีใครหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง ดังนั้น Le Corbusier จึงเป็นบุรุษผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และหนึ่งในผู้กรุยทางให้เมืองเป็นเมืองอย่างในทุกวันนี้ ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับบรรจุให้เป็นมรดกโลกกว่า 17 ชิ้น ใน 7 ประเทศทั่วโลก
หลายคนคงเริ่มสงสัยว่าเจ้าน้ำหอมนี้เกี่ยวอะไรกันกับงานสถาปัตยกรรมยุคนี้ ค่อยๆตามเรามานะ เราจะเผยให้ฟัง หนึ่งในทีมงานตัวจี๊ดคนหนึ่งของ Le Corbusier เป็นสุภาพสตรีมากความสามารถชื่อ Charlotte Perriand เธอเป็นผู้รับผิดชอบงานตกแต่งภายในในหลายโปรเจ็คท์ของเขา เปรียบเสมือนเป็นมือขวาเลยก็ว่าได้ แม้จะไม่ได้พื้นที่สื่อมากเท่ากับ Le Corbusier แต่แนวคิดและฝีมือของเธอในการยกระดับ “The Art of Living” นั้นไม่เป็นรองใคร และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Le Corbusier ในหลายๆโครงการ โดยเฉพาะในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีการผสมเอาวัสดุและเทคนิคใหม่ๆในขณะนั้น จนกลายเป็นผลงานสุดคลาสสิคที่ยังเป็นที่ต้องการและยังผลิตมาขายจนถึงทุกวันนี้
Charlotte Perriand เป็น icon คนสำคัญในแวดวงตกแต่งภายใน ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่า The Art of Living นั้นคือการมีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับแรงขับเคลื่อนเบื้องลึกของมนุษย์และกับสภาพแวดล้อมที่เขาสร้างขึ้นและที่เขาเลือกรับเข้ามาในชีวิต อาจจะด้วยแนวคิดนี้กระมังที่ทำให้เธอพยายามเลือกสภาพแวดล้อมใหม่ๆอยู่เสมอ และเลือกที่จะไม่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ Le Corbusier ตลอดไป เธอตัดสินใจที่จะออกไปสำรวจเส้นทางของตัวเอง และได้ร่วมงานกับผู้คนระดับตำนานอื่นๆอีกมากมาย
ผลงานของเธอถูกหล่อหลอมขึ้นจากความรักในธาตุวัตถุที่มีอยู่ในธรรมชาติ ความเชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และการเดินทางออกไปเผชิญโลกกว้าง โดยมีช่วงหนึ่งที่เธอต้องย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นและเวียดนามนานเกือบ 6 ปีเพราะเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กลิ่นอายความเป็นตะวันออกนั้นเจืออยู่บางๆในงานของเธอนับแต่นั้นเป็นต้นมา และในระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่นเธอก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับงานดีไซน์ในญี่ปุ่นเพื่อตลาดตะวันตกอีกด้วย
ไม่นานมานี้ Barnabé Fillion นักออกแบบน้ำหอมชาวฝรั่งเศสชื่อดังที่ร่วมงานกับ Aēsop มาอย่างยาวนาน ได้รับโจทย์ให้รังสรรค์น้ำหอมกลิ่นที่ 4 ให้กับทางแบรนด์ คราวนี้เขาได้รับบันดาลใจมาจากชีวิต Charlotte Perriand สตรีผู้อ่อนโยนทว่าหนักแน่น สตรีผู้ผสมผสานความเป็นตะวันออกเข้ากับความเป็นตะวันตก สตรีผู้หยิบเอาวัสดุธรรมชาติมาหลอมรวมกับเทคนิคใหม่ๆที่มนุษย์คิดค้นขึ้น สตรีผู้เนรมิตปรัชญานามธรรมให้กลายเป็นผลงานที่จับต้องได้ แน่นอนว่าน้ำหอมกลิ่นที่ 4 ที่จะต้องถ่ายทอดความซับซ้อนทั้งหมดนี้ จะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และจมูกที่เป็นเลิศของมืออาชีพระดับโลกเท่านั้น
เราปลื้มที่ Fillion เลือกเล่าชีวิตของ Perriand ผ่านดอกกุหลาบ แต่ไม่ใช่แค่กุหลาบธรรมดา แต่เป็นวงจรชีวิตทั้งหมดของกุหลาบวาบะระ กุหลาบสวนกลีบซ้อนกันแน่นสายพันธุ์ญี่ปุ่น โดยเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ในดิน จนเติบโต เบ่งบาน และร่วงโรยไปตามกาลเวลา ดังนั้นนอกจากความหอมหวานของกุหลาบแล้ว Rōzu ยังอบอวลไปด้วยไอดิน กลิ่นใบเขียว เปลือกไม้หอม รวมไปถึงเครื่องเทศที่ล้วนต่างมีที่มีทางอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว นี่จึงไม่ใช่น้ำหอมกลิ่นกุหลาบหวานเจี๊ยบ แต่เป็นกลิ่น unisex ที่มีครบทุกมิติ ลุ่มลึก หนักแน่น ทรงเสน่ห์ เช่นเดียวกับบุคลิกและความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกันของ Perriand
กลิ่นหอมหวลจากกลีบกุหลาบวาบะระนั้นถูกโอบอุ้มเพิ่มมิติความหอมและลดทอนความหวานลงด้วยส่วนผสมที่ซับซ้อนมากมายทั้ง เพตติเกรน เบอร์กามอต ใบชิโสะ (ท่ี Charlotte โปรดปรานตลอดการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นของเธอ) พิงค์เพพเพอร์ อิลัง อิลัง ดอกมะลิ ซ้อนเลเยอร์ความสโมคกี้ด้วยกลิ่นจากไม้กวาแอค เติมความอบอุ่นด้วยกลิ่นไม้แซนดัลวู้ด นอกจากนี้ยังมีแวติเวอร์ พัทชูลี เมอร์และปิดท้ายด้วยความเย้ายวนจากมัสก์ นี่คือความ Sophisticated ของกลิ่นที่น่าทึ่ง และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือผลลัพธ์ที่ลงตัวเมื่อสัมผัสผิวกายก็กลายเป็นเสน่ห์ความหอมที่เปี่ยมรสนิยม ติดอยู่แค่นิดดดดดเดียว เราอยากให้กลิ่นหอมๆติดอยู่บนผิวเรานานกว่านี้อีกซักหน่อย
เราชอบกระบวนการสร้างสรรค์ที่ให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของบุคคลที่น่ายกย่อง เราชื่นชมการตีความและสื่อสารปรัชญานามธรรมให้ออกมาเป็นสินค้าที่ผู้คนสามารถนำมาใช้ได้จริง อันที่จริงเรามองว่าการเลือกใช้น้ำหอมนั้นก็เป็นการสื่อสารถึงตัวตนของเราให้คนรอบข้างได้รับรู้อย่างมีชั้นเชิงโดยไม่ต้องใช้คำพูดอธิบายให้เสียเวลา
แน่นอนว่าในแต่ละวันเราก็อยู่ในอารมณ์และสถานการณ์ที่ต่างกันไป หากวันไหนคุณรู้สึกอยากจะบอกคนรอบข้างให้รู้ว่าคุณเป็นคนละเมียดละไม เข้มแข็งแต่อ่อนหวาน อบอุ่นและเย้ายวน ลองฉีด Rōzu น้ำหอมกลิ่นที่ 4 จาก Aēsop นี้ดูสิ เราว่าเขาน่าจะเก็ตนะ
.
Where to buy: Aēsop counter at Central Department Store
Website: www.central.co.th/th/aesop, www.aesop.com
.
FB/IG: @hoparound.co
Website: www.hoparound.co
.
Image Credit: Aesop.com, nemolighting.com
#AesopSkincare #AesopThailand #LetsHoparound #ParsleySeed #รีวิวAesopRozu #รีวิวAesopPerfume #รีวิวAesop #รีวิวเอสอป #รีวิวเครื่องสำอางค์ #ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
หาเงินซื้อน้ำหอม คลิก https://bit.ly/3ucS0y2